ประวัติความเป็นมา

ก่อนปี พ.ศ.2493

กองทัพอากาศรับบุคลากรที่ผลิตจากสถาบันการศึกษาอื่นและมหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานในกองทัพอากาศ ต่อมาภารกิจและกิจการของกองทัพอากาศมีมากขึ้น ประกอบกับยังไม่มีสถาบันที่จะผลิตนายทหารสัญญาบัตรของตนเอง นอกจากนี้ ทางกองทัพอากาศต้องการนายทหารที่มีความรู้เฉพาะสาขาวิชามากกว่าด้านความรู้ทั่วไป จึงได้เตรียมการเริ่มตั้ง "โรงเรียนนายเรืออากาศ" เพื่อผลิตนายทหารหลักให้กับกองทัพอากาศ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดประกอบกับปัญหาบางประการจึง ทำให้การก่อตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศต้องล่าช้าออกไปนานนับทศวรรษ

2493

กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ได้เสนอเสนาธิการทหารอากาศว่า นายทหารของกองทัพอากาศนั้น ควรที่จะได้รับการศึกษา และการฝึกฝนตลอดระยะเวลาที่รับราชการอยู่ในกองทัพอากาศ และในปีต่อมา เสนาธิการทหารอากาศได้มีคำสั่งให้กรมยุทธศึกษาทหารอากาศเตรียมโครงการเพื่อเปิดโรงเรียนนายเรืออากาศโดยละเอียด

2495

โครงการจัดตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศได้รับนโยบายและความเห็นชอบจากผู้บัญชาการทหารอากาศในขณะนั้น จึงเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติต่อคณะรัฐบาล คณะรัฐมนตรีได้ประชุมลงมติอนุมัติเมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 แต่ยังไม่พร้อมที่จะทำการเปิดสอนได้

2496

ทำการคัดเลือกนักเรียนนายเรืออากาศรุ่นแรก จำนวน 30 นาย และได้เข้ามารายงานตัวเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 โดยใช้ตึกเหลือง (กรมสวัสดิการทหารอากาศในปัจจุบัน) ซึ่งนายพลโตโจ้ได้สร้างไว้เพื่อบัญชาการรบในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาเป็นอาคารเรียนชั่วคราว และได้จัดให้มีพิธีเปิดโรงเรียนขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 จึงได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาโรงเรียนนายเรืออากาศ

2500

5 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารกองบัญชาการ ซึ่งเป็นอาคารหลังแรก ณ ที่ตั้งถนนพหลโยธิน ตรงข้ามกองบัญชาการทหารอากาศ และเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2506 จึงได้มีพิธีเปิดอาคาร และย้ายมาดำเนินการที่แห่งนี้อย่างเป็นทางการ

2556

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานชื่อโรงเรียนใหม่ว่า "โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช" ในโอกาสเฉลิมฉลอง 60 ปีของโรงเรียนนายเรืออากาศ

2566

โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ได้ย้ายไปยังที่ตั้งใหม่ ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

2568

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ที่ตั้งใหม่ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

สัญลักษณ์ประจำสถาบัน

เครื่องหมายราชการโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน

เครื่องหมายราชการโรงเรียนนายเรืออากาศ พ.ศ. 2533 - 2559

​เครื่องหมายราชการโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีพระอุณาโลมประดิษฐานอยู่ภายใน ส่วนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎมีพระรัศมีล้อมรอบ เบื้องล่างพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นรูปอาร์มมีแถบสีธงไตรรงค์คาดเฉียง มีรูปปีกนกทรงรูปอาร์มไว้ทั้งด้านขวาและซ้าย (ปีกนักบินชั้นที่ 1) และภายใต้รูปอาร์มเป็นรูปดาว 5 แฉก มีช่อชัยพฤกษ์โค้งรองรับอยู่เบื้องล่าง รูปทั้งหมดอยู่ในวงกลมเบื้องล่างมีแพรแถบข้อความว่า “โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช”

  • ปีกนักบินชั้นที่ 1 เป็นสัญลักษณ์ของนักบินทหารอากาศ แสดงถึงนักเรียนนายเรืออากาศซึ่งสำเร็จออกเป็นนายทหารสัญญาบัตร และจะเป็นนักบินของทหารอากาศต่อไป
  • ดาว 5 แฉกสีเงิน แสดงถึง ความมีเกียรติ นักเรียนนายเรืออากาศทุกคนมุ่งมั่นปรารถนาที่จะรับราชการให้มีความก้าวหน้าสูงถึงขั้นนายพลอากาศ
  • ช่อชัยพฤกษ์ใบสีทอง แสดงถึง ความสำเร็จด้านการศึกษาของนักเรียนนายเรืออากาศ เพื่อที่ออกไปรับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตรต่อไป
  • วงกลมสีฟ้า และแถบปลายแฉกสะบัดสีเหลือง โดยสีฟ้า-เหลือง เป็นสีประจำโรงเรียนนายเรืออากาศฯ

พระบรมราชานุสาวรีย์


​พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประจำโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ประดิษฐานด้านหน้าอาคารกองบัญชาการโรงเรียน ออกแบบและปั้นต้นแบบพระบรมรูปโดย กิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา หล่อด้วยโลหะเจือรมดำมันปู มีความสูง 4.25 เมตร คิดเป็น 2 เท่าครึ่งของพระองค์จริง มีลักษณะพระอิริยาบถทรงยืน ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ คลุมด้วยฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประกอบด้วย เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ พระหัตถ์ซ้ายทรงประคองกระบี่ ประดิษฐานบนแท่นความสูง 4.20 เมตร รวมความสูงของพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้งหมด 8.45 เมตร

​โดยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองทัพอากาศจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พร้อมพระราชทานตราพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่แท่นฐาน รวมทั้งจัดสร้างพระบรมรูปจำลองความสูง 50 เซนติเมตร จำนวน 999 องค์ เพื่อมอบแก่ผู้มีอุปการคุณสมทบทุนมูลนิธิโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช โดยกองทัพอากาศประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานบนแท่นฐานและถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 จากนั้นประกอบพิธีมังคลาภิเษกพระบรมรูปจำลองเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) ประทานไฟพระฤกษ์ และมีพระบัญชาให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) เลขานุการในสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี มาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ในคราวเดียวกับทรงเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568